“เพลงที่ครูเลือกให้ มันยากจัง!!!!”
“โห! เพลงนี้โน้ตสูงลิบลิ้วเลย!”
“Sharp/Flat เยอะมากเพลงนี้ตาลาย”
“โอ้ยยยย โน้ตยุบยับเลย เอาเวลาตรงไหนไปหายใจเนี่ย”
ฯลฯ
คุณครูดนตรีทุกท่านเคยได้ยินเสียงบ่นนี้จากนักเรียนของท่านหรือไม่ ถ้าท่านเคยได้ยิน แสดงว่า เราพวกเดียวกัน (หัวเราะ)แต่ถ้าท่านไม่เคยได้ยิน ก็อาจอนุมานได้หลายอย่าง เช่น ท่านรู้จักการเลือกเพลงที่เหมาะสมแก่วงของท่านแล้ว หรือ โยนโน้ตไปเลย เดี๋ยวนักเรียนไปจัดการซ้อมกันเอง!!! สิ่งผมอยากจะบอกก็คือ “สาเหตุของเสียงบ่นของนักเรียนอาจเป็นเพราะบทเพลงที่คุณครูเลือกให้พวกเขาลองบรรเลงนี่แหละ” ผมเข้าใจคุณครูทุกท่านว่าท่านก็หวังอยากให้นักเรียนมีโอกาสได้เล่นบทเพลงที่ไพเราะ บทที่มันเจ๋งๆ บทเพลงที่ยากมีทักษะที่ท้าทาย บทเพลงที่ทรงคุณค่าและควรค่าแก่การนำบรรเลง ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ดี แต่…มันดีสำหรับระดับความสามารถในตอนนี้ของนักดนตรีในวงของท่านหรือไม่?
เรื่องนี้น่าคิดนะครับ บางวงที่สามารถทำได้ก็ดีไป (ซึ่งผมว่าน่าจะใช้เวลาเยอะพอควร หรือไม่ก็ระบบในวงของท่านดีอยู่แล้ว) แต่บางวงที่ทำไม่ได้เลย กลายเป็นว่า เพลงที่ท่านนำมา อาจนำมาซึ่งอุปสรรคบางอย่าง ซึ่งมีผลต่อพัฒนาการทางดนตรีของนักเรียนก็เป็นได้ หรือหนักสุดคืออาจเกลียดเพลงนี้ไปเลย … ถึงขั้นเพียงแค่พูดชื่อเพลง ก็ต่างส่ายหน้าหนีกันเลยทีเดียว (อันนี้ประสบการณ์จริงจากผู้เขียนเอง)
ด้วยเหตุนี้ นักประพันธ์เพลง สำนักพิมพ์ นักดนตรี นักการศึกษา วาทยกร มารวมตัวกันเพื่อศึกษาหาแนวทางร่วม และกำหนดสิ่งที่เรียกว่า “Grade Level” หมายถึง เกณฑ์วัดที่ใช้ “บอก” ระดับความยากง่ายของบทเพลง ซึ่งแน่นอนว่า สิ่งนี้เป็นเพียงเครื่องมือที่ใช้บอก ระดับความยากง่ายเฉยๆ ไม่ใช่สิ่งที่เอาไว้ กำหนดคุณค่า (Value) คุณภาพ (Quality) หรือ ข้อได้เปรียบ (Privilege) แต่อย่างใด สรุปง่ายๆ มันเอาไว้บอกว่า เพลงมันยาก-ง่าย ประมาณไหนแล้วกัน เวลาเลือกเพลง จะได้พิจารณาถูกว่า เรา และ นักเรียนของเรามีทักษะอยู่ในระดับไหนที่จะสามารถเล่นเพลงตาม Grade Level ที่เหมาะสมได้
เอาละ เมื่อเรารู้ที่มาของ Grade Level แล้ว มาดูว่า Grade Level แต่ละระดับ มีระดับพิสัย ความยากง่ายอย่างไรบ้าง อันนี้ผู้เขียนต้องขอออกตัวก่อนเลยว่า นิยามคำจำกัดความ ในแต่ละ Grade นั้น แต่ละสำนักพิมพ์ แต่ละนักประพันธ์ ก็ดันกำหนดไม่เหมือนกันอีก เอาเป็นว่า ผมขออ้างอิงตาม เว็บไซต์ในแหล่งอ้างอิงแล้วกันนะครับ
Grade 1 ระดับเริ่มต้น (Beginner)
เป็นระดับเพลงที่เหมาะสำหรับวงเพิ่งเริ่มใหม่ อย่างน้อยไม่เกิน 1 ปี ส่วนใหญ่มักจะใช้รูปแบบการประพันธ์แบบ Unison (ทุกเครื่องใช้เสียงเดียวกันหมด เพื่อที่จะได้เล่นตามกันได้) มีช่วงเสียง (Range) ไม่สูงมาก คีย์ของเพลง (Key) ส่วนใหญ่ จะเหมาะกับ Key Bb (สำหรับ Band) แต่ถ้าเป็นของวง Orchestra จะเหมาะกับ Key D โน้ตเพลงใช้อยู่ไม่กี่เสียง บางเพลงก็ใช้แค่ 5 โน้ต การดำเนินเพลง อัตราจังหวะ (Time Signature) จะเป็น Common Time (4/4) ใช้ค่าโน้ต ตัวกลม ตัวขาว ตัวดำ และมีใช้ เขบ็ดบ้างน้อยครั้ง
Grade 1.5
ที่จริงอันนี้ก็เหมือน Grade 1 เพียงแต่เพิ่มโน้ตที่ใช้เยอะขึ้น เช่น จากเดิมใช้แค่ C D E F G แต่อาจจะเพิ่ม A และ B ขึ้นมา หรือ อาจมีครบ 1 Octave เลยก็ได้
Grade 2 ระดับง่าย (Easy)
แน่นอนว่าเมื่อระดับของ Grade เพิ่มมากขึ้น ความซับซ้อนของเพลงก็จะเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะ Range เสียงที่กว้างขึ้น เช่น เครื่อง Brass มีเสียงที่สูงขึ้น อาจเกิน octave ไป 1-3 ตัว เช่น เพิ่มโน้ต C D E ใน Octave 2 เป็นต้น คีย์ของเพลงที่ใช้เริ่มแตกต่างจากเดิมที่ไม่มีเครื่องหมายแปลงเสียง (Accidental เช่น Sharp Flat) ก็จะมีมากขึ้นแต่ไม่มาก ตัวอย่างหากเทียบจาก Trumpet คือ จากเดิมคีย์ Bb Concert ก็เปลี่ยนมาใช้ F Concert (ซึ่ง Accidental ก็จะเพิ่ม ตัว Bb ขึ้นมา) เป็นต้น
สัดส่วนของโน้ตจะเพิ่ม การบรรเลงแบบ Syncopation (จังหวะยก) เพิ่มขึ้นมา รูปแบบการประพันธ์ในเพลง จะมีการกำหนด ส่วนที่เป็น Solo (การบรรเลงเดี่ยว) กับส่วนที่เป็น Soli (ส่วนทำนอง) ที่ชัดเจน กล่าวคือ ถ้าใน Grade 1 ทั้งวงเล่นเป็น Unison ใน Grade 2 บางเครื่องอาจไม่ได้เล่นเป็น Unison ก็ได้ อาจเป็นการประสานเสียง หรือการหยุดบรรเลงชั่วครู่ เพื่อให้เครื่องอื่นได้เล่นในส่วนของทำนองแทน แล้วค่อยบรรเลงขานรับตอบ รวมถึงมีการใช้ทำนองสอดประสาน (Harmony) เพียงเล็กน้อย ไม่เกิน 2 แนว
Grade 3 ระดับปานกลาง (Medium)
พอมาถึงระดับนี้ จำนวนเครื่องดนตรีที่ใช้จะมีเพิ่มมากขึ้น แนวเสียง (Line) เริ่มมีการสอดประสานมากขึ้น จากเดิมที่ประสานเพียงขั้นคู่ (interval) ก็อาจจะเพิ่มเป็น Triad จนครบ Chord ซึ่งแน่นอน ด้วยความที่ยังเป็นระดับปานกลาง ทำให้มีการใช้คีย์เพลงจำกัดที่ Sharp ไม่เกิน 5 ตัว (สำหรับของวง Orchestra) และ Flat ไม่เกิน 5 ตัว (สำหรับวง Band) อีกทั้งส่วนของอัตราจังหวะ และ สัดส่วนตัวโน้ตของเพลง จะมีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้น แม้แต่ Range ของเสียงก็เริ่มใช้ ถึง 2 Octave เต็มอีกด้วย
Grade 4 ระดับยากปานกลาง (Medium Advanced)
ส่วนใหญ่บทเพลงที่อยู่ในระดับนี้จะเป็นบทเพลง มาตรฐานที่วงในสถาบันดนตรี หรือตามโรงเรียนในระดับมัธยมปลายมักนิยมนำมาบรรเลงกันจนกลายเป็นเพลงมาตรฐานที่สถาบันต่างๆ ให้การยอมรับ ซึ่งผลงานการประพันธ์ในระดับนี้มักเรียกว่า Standard Repatoire หรือพูดภาษาบ้านๆ เลยคือ “เพลงครูขึ้นหิ่ง” (ซึ่งในความเห็นผม เพลงทุกระดับมันคือเพลงครูทั้งนั้นแหละ ถ้ามันช่วยให้เรามีพัฒนาการทางดนตรีที่ดีได้) เครื่องดนตรีที่ใช้ในบทเพลง เป็นเครื่องดนตรีแบบครบทั้งวงดุริยางค์ (Full Band) มาตรฐานสากล มีอัตราจังหวะที่ซับซ้อนพอสมควร Range เสียงตั้งแต่ต่ำสุดจนถึงสูงเท่าที่เครื่องดนตรีสามารถทำได้ ส่วนใหญ่เพลงในระดับนี้มักมีความยาวของบทเพลงมากกว่า 6 นาทีเป็นอย่างต่ำ
Grade 5 ระดับยาก (Advanced)
เป็นบทเพลงยากในระดับสูง ผู้ประพันธ์แต่ละท่านต่างรังสรรค์บทเพลงอย่างพิถีพิถันขึ้นเพื่อดึงเอาขีดความสามารถในตัวนักดนตรีออกมาทั้งหมดเพื่อใช้ในบทเพลง ลีลาและสีสันการประพันธ์ในบทเพลงมีความลึกซึ้ง มีเทคนิคที่ใช้ในการบรรเลงที่ท้าทายฝีมือของผู้บรรเลงอย่างมาก ถึงขั้นในระดับที่สามารถนำมาใช้ในการแข่งขันวงดนตรีระดับมืออาชีพอย่างสุดความสามารถได้เลยทีเดียว
Grade 6 ระดับยากมาก (Very Advanced)
ส่วนใหญ่เพลงระดับนี้มักเป็น บทเพลงสมัยใหม่ (Modern Music / Contemporary Music) มีความซับซ้อนในการประพันธ์เป็นอย่างมาก ผู้บรรเลงต้องอาศัยการคิดพินิจพิเคราะห์เป็นอย่างมาก รวมถึงการตีความ (Interpretation) บทเพลงอย่างลึกซึ้ง
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้นั้นเป็นเพียง “Guideline (ข้อแนะนำ)” เท่านั้น ไม่ใช่ข้อบังคับ หรือ ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามนี้ เพราะนี่เป็นเพียงแนวทางให้ผู้ควบคุมวง หรือ ครูดนตรีทุกท่าน คิดก่อนจะเลือกเพลงให้นักเรียนของท่านไปบรรเลง สำหรับท่านที่ยังไม่ทราบว่าจะเลือกเพลงอย่างไร ก็ลองเอาวิธีคัดแยก Grade เพลงจากบทความนี้ไปใช้ดู
หรือ!!!! ง่ายที่สุดเลย
***บนโน้ตเพลงที่ถูกลิขสิทธิ์ทุกเพลง บนหน้าปกมักจะมีเขียนอยู่ว่าเพลงนี้อยู่ในระดับ Grade ใด (ซึ่งบอกเลยถ้าท่าน โหลดเพลงจากเพจแจกเพลง มันไม่มีบอกแบบนี้แน่) เพราะฉะนั้น ร่วมกันสนับสนุน ของถูกลิขสิทธิ์ เพื่อที่จะเป็นการสร้างอาชีพที่มั่นคงให้กับนักประพันธ์เพลง และสร้างจิตสำนึกที่ดีต่อนักดนตรีรุ่นใหม่ ที่ท่าน(ครูดนตรี) จะเป็นผู้สอนเค้าให้เป็นนักดนตรีที่ดีในอนาคต
สุดท้ายนี้ หลังจากที่อ่านบทความนี้ อยากให้ท่าน
1.ลองเอา เพลงชาติ มาเปรียบดูซิ้ ว่าอยู่ในระดับไหน?
2.เราจะทำเพลงชาติให้มี Grade (ที่เหมาะสม) กับวง ในระดับ Grade 1 ได้หรือไม่
มาแชร์ความคิดกันดูนะครับ
แหล่งอ้างอิง
“Guide to Rating Your Music: Where Range and Grade Level Intersect.” n.d. ArrangeMe Blog. https://blog.arrangeme.com/blog/guide-to-rating-your-music-where-range-and-grade-level-intersect.
“Band Difficulty Gradings.” n.d. Www.safemusic.co.uk. https://www.safemusic.co.uk/13040/band-difficulty-gradings/.
เพิ่มเติมจากบรรณาธิการ
(วิษณ์กมล ชัยวานิชศิริ)
บทความนี้เป็นบทความที่น่าสนใจมาก และ ผมเชื่อว่ามีประโยชน์กับวงต่างๆ ที่กำลังพิจารณาหาบทเพลงไปบรรเลงอยู่แน่นอน สำหรับท่านที่สนใจในเรื่องของ Grade Level ผมขอแนะนำเกณฑ์พิจารณาเกรดของ American Band College Music ด้วยในลิงก์นี้ https://www.bandworld.org/pdfs/gradingchart.pdf
นอกจากนี้แล้วทางเว็บไซต์ Thai Wind Composers มีระบบในการค้นหาบทเพลงโดยเลือกจากเกรดได้ ลองเข้าไปใช้งานกันในลิงก์นี้นะครับ https://www.thaiwindcomposers.com/compositions/